This story was written by the ILO Newsroom For official ILO statements and speeches, please visit our “Statements and Speeches” section.

Child Labour

อนุสัญญาแรงงานเด็กของ ILO ได้รับการให้สัตยาบันสากล

ประเทศสมาชิก 187 ประเทศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญา ไอแอลโอ ที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 182)

News | 04 August 2020


เจนีวา (ข่าวไอแอลโอ) - เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ ไอแอลโอ ที่อนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศได้รับการให้สัตยาบันโดยประเทศสมาชิกทุกประเทศ

อนุสัญญา ฉบับที่ 182 ที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก
ได้รับการให้สัตยาบันสากลหลังจากการให้สัตยาบันโดยราชอาณาจักรตองงา

ฯพณฯ เอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรตองงา นาย Titilupe Fanetupouvava'u Tuivakano ได้ให้สัตยาบันอย่างเป็นทางการกับ นาย กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563

อนุสัญญาฉบับนี้เป็นอนุสัญญาที่ได้รับการให้สัตยาบันอย่างรวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กร นับตั้งแต่มีการรับรองอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อ 21 ปีที่แล้วโดยที่ประชุมแรงงานระหว่างประเทศ

“การให้สัตยาบันสากลอนุสัญญา ฉบับที่ 182 คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันมีหมายความว่า ปัจจุบัน เด็กๆ ทุกคนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก” นาย กาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ไอแอลโอ กล่าว “สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงพันธสัญญาในระดับโลกว่ารูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด เช่นการใช้แรงงานบังคับ การแสวงประโยชน์ทางเพศ การใช้เด็กในความขัดแย้งทางสงคราม หรือในงานที่ผิดกฎหมาย หรือมีอันตรายอื่นๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ศีลธรรมหรือสภาพจิตใจของเด็กนั้น ไม่มีที่ยืนในสังคมของเรา”

เลขาธิการสมาพันธ์สหภาพการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation - ITUC) ชารัน เบอราว แสดงความยินดีต่อการให้สัตยาบัน

“การให้สัตยาบันสากลของอนุสัญญา ฉบับที่ 182 เป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญและทันเวลาถึงความสำคัญของมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศของ ไอแอลโอ และความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาระดับโลกแบบพหุภาคี การใช้แรงงานเด็กเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงและเป็นหน้าที่ของไตรภาคีของ ไอแอลโอ และประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความมั่นใจว่าอนุสัญญาฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก

“การให้สัตยาบันสากลอนุสัญญา ฉบับที่ 182 ของ ไอแอลโอ ที่ว่าด้วยรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก เป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์” นาย Roberto Suárez Santos เลขาธิการองค์กรนายจ้างระหว่างประเทศ (International Organization of Employers - IOE) กล่าว “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา IOE และองค์กรสมาชิกได้ให้การสนับสนุนการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับนี้ วันนี้ ภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการทำธุรกิจด้วยความเคารพต่อสิทธิเด็ก สิ่งนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เราไม่สามารถปล่อยให้การต่อสู้กับรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็กถอยหลัง ด้วยความร่วมมือกัน เราสามารถดำเนินการเพื่อยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ”

การให้สัตยาบันสากลครั้งนี้เป็นการสานต่อแรงบันดาลใจอีกก้าวหนึ่งของ Kailash Satyarthi ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่กล่าวว่า“ฉันฝันถึงโลกที่เต็มไปด้วยเด็กที่ปลอดภัยและวัยเด็กที่ปลอดภัย…ฉันฝันถึงโลกที่เด็กทุกคนมีอิสระภาพในการเป็นเด็ก”

ไอแอลโอ ประเมินว่าแรงงานเด็กมีจำนวน 152 ล้านคน 73 ล้านคนของจำนวนนี้ทำงานที่อันตราย 70 เปอร์เซ็นต์ของการใช้แรงงานเด็กเกิดขึ้นในภาคเกษตร เนื่องจากความยากจนและความยากลำบากของผู้ปกครองในการหางานที่มีคุณค่า

อนุสัญญา ฉบับที่ 182 เรียกร้องให้ห้ามและกำจัดรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดซึ่งรวมถึงการเป็นทาส การใช้แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ห้ามมิให้ใช้เด็กในการสงคราม ในการค้าประเวณี สื่อลามกและกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการค้ายาเสพติดและในงานที่อันตราย

อนุสัญญา ฉบับที่ 182 เป็นหนึ่งในอนุสัญญาหลัก 8 ฉบับของ ไอแอลโอ อนุสัญญาหลักเหล่านี้ครอบคลุมเรื่องการยกเลิกการใช้แรงงานเด็ก การขจัดแรงงานบังคับ การยกเลิกการเลือกปฏิบัติด้านการทำงานและสิทธิต่อเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรอง หลักการเหล่านี้ยังอยู่ภายใต้
Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work (1998) ของ ไอแอลโอ อีกด้วย

นับตั้งแต่การก่อตั้ง ไอแอลโอ ในปี พ.ศ. 2462 การใช้แรงงานเด็กเป็นปัญหาหลัก นาย อัลเบิร์ต โธมัส ผู้อำนวยการคนแรกขององค์กรกล่าวถึงการใช้แรงงานเด็กว่า“การเอารัดเอาเปรียบความเป็นเด็กถือเป็นความชั่วร้าย… เป็นสิ่งที่ทนไม่ได้ที่สุดต่อจิตใจมนุษย์ การทำงานทางกฎหมายอย่างจริงจัง เริ่มต้นที่การคุ้มครองเด็กก่อนเสมอ ”

อนุสัญญา ฉบับที่ 182 เป็นศูนย์กลางของโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดของ ไอแอลโอ โครงการหนึ่ง  - โครงการระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการใช้แรงงานเด็ก (International Programme on the Elimination of Child Labour - IPEC +) ซึ่งได้ให้การสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ทั่วทุกทวีป กว่า 100 ประเทศ

การใช้แรงงานเด็กและรูปแบบการใช้แรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุดได้ลดลงเกือบร้อยละ 40 ระหว่างปี พ. ศ. 2543-2559 เนื่องจากการให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 182 และ อนุสัญญา ฉบับที่ 138 (ว่าด้วยอายุขั้นต่ำในการทำงาน) ได้เพิ่มจำนวนขึ้นและเนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ ได้บังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าได้ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านๆ มา ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กกลุ่มที่อายุน้อยที่สุด (5 -11 ขวบ) การระบาดของ COVID-19 ก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นอย่างมากว่าความคืบหน้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเกิดการถอยกลับซึ่งจะนำไปสู่แนวโน้มที่การใช้แรงงานเด็กจะเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ยกเว้นแต่จะมีการดำเนินการที่เหมาะสม

“การยุติการใช้แรงงานเด็กในทุกรูปแบบ ภายในปี พ. ศ. 2568”อยู่ภายใต้เป้าหมาย 8.7 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่รับรองโดยประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทุกประเทศในปี พ. ศ. 2558 การให้สัตยาบันสากลอนุสัญญา ฉบับที่ 182 แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิก ไอแอลโอ ทุกประเทศในการให้ความมั่นใจว่า เด็กทุกคน ในทุกที่ เป็นอิสระจากแรงงานเด็กและรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก

ความสำเร็จครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนการเริ่มต้นปีแห่งการขจัดการใช้แรงงานเด็ก (International Year for the Elimination of Child Labour) ปี พ. ศ. 2564 ที่ ไอแอลโอและพันธมิตรเป็นผู้นำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้และเพื่อเร่งยกระดับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา